ประเพณีไทยภาคอีสาน

1. ประเพณีผีตาโขน
ช่วงเวลา 
          ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี

ความสำคัญ 
          การละเล่นผีตาโขนมีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการแห่ ผีตาโขน เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและ นางมัทรี กำลังจะออกจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาผีป่า และสัตว์นานาชนิด มีความอาลัยจึงแฝงตนมากับชาวบ้าน เพื่อมาส่งพระเวสสันดร และนางมัทรีกลับเมืองซึ่งเรียกกันว่า ผีตามคน หรือ ผีตาขน

พิธีกรรม 
          มีการจัดทำพิธี 2 วัน คือ วันแรก (วันโฮม) ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้ ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด 3 รอบ ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน หลังจากเสร็จพิธีการแห่แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ 
ผีตาโขน จะแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก 
        ผีตาโขนใหญ่ จะสานมาจากไม่ไผ่มีขนาดใหญ่กว่าคนประมาณ 2 เท่าแล้วจะประดับตกแต่งหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ในการทำผีตาโขนใหญ่ในแต่ละปีจะทำ 2 ตัวคือชายหนึ่งตัว และหญิงอีกหนึ่งตัวเท่านั้น ผู้ที่มีหน้าที่ทำผีตาโขน ใหญ่จะต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน และเมือได้รับอนุญาต แล้วต้องทำผีตาโขนใหญ่ทุกๆ ปีหรือต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีเพราะว่าคนที่ไม่ได้รับอนุญาตก็จะไม่มีสิทธิ์ทำผีตาโขนใหญ่ เวลาแห่จะต้องมีคนเข้าไปอยู่ในตัวหุ่น 
       ผีตาโขนเล็ก  ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ทำผีตาโขนเล็กเพื่อเข้าร่วมสนุกสนานกันได้ทุกคน การเล่นของผีตาโขนเล็กค่อนข้างผาดโผนผู้หญิงจึงไม่ค่อยนิยมเข้าร่วม 
การแต่งกายของผู้ที่เข้าร่วมในพิธีแห่ผีตาโขน จะแต่งกายคล้ายกันกับผีปีศาจ ที่สวมศีรษะด้วยที่นึ่งข้าวเหนียวหรือว่ากระติ๊บข้าวเหนียวนั่นเอง และใส่หน้ากากที่ทำด้วยกาบมะพร้าวแกะสลัก มีการละเล่นร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานในขบวนแห่

สาระ 
          การละเล่นผีตาโขนนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้พบเห็น มีการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้ง นำมาตกแต่งเป็นหน้ากาก โดยการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู นำเอาหวดนึ่งข้าว โดยกดดันหวดให้เป็นรอยบุ๋มหงายปากหวดขึ้น เพื่อสวมศีรษะแต่งแต้มสีสันให้น่าดู ส่วนชุดที่สวมใส่ทำมาจากเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกัน อุปกรณ์ในการละเล่นมี 2 ชิ้น คือ "หมากกระแหล่ง" มีไว้เพื่อเขย่าทำให้เกิดเสียงดังในเวลาเดิน และ "อาวุธประจำกาย" ผีตาโขนส่วนมากจะใช้ผู้ชายแสดงเนื่องจากต้องกระโดดโลดเต้นไปเรื่อย ๆ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผู้หญิงเป็นตัวแสดง นอกจากเข้าร่วมในงาน "บุญหลวง" ยังได้เข้าร่วมขบวนแห่ในวันเปิดงานกาชาดดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย โดยขบวนผีตาโขนจะเดินรอบเมืองเพื่อโชว์ให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็น

2. ประเพณีบุญบั้งไฟ
ช่วงเวลา 
            เดือนพฤษภาคม

ความสำคัญ 
            ชาวจังหวัดยโสธรร้อยละ 85 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ชาวยโสธรจึงจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการทำบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนฤดูการทำนา เป็นพิธีขอฝนจากพญาแถนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล

พิธีกรรม 
            บุญบั้งไฟ  หรือชาวบ้านชอบเรียกงาน บุญบั้งไฟ ว่าบุญเดือนหก จะเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาเทพยาดาอารักษ์หลักบ้านหลักเมือง เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล จะได้ทำให้พืชผลทางการเกษตร การทำไร ทำนาไดผลอุดมสมบูรณ์ และเพื่อบูชาพญาแถนผู้ให้ฝนตกอีกด้วย ซึ่งชาวบ้านคนไทยและ คนลาวมีความเชื่อว่าพญาแถนคือเทพเจ้าแห่งฝน การจุดบั้งไฟจึงเป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งฝน บันดานให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ตามความเชื่อมีเรื่องเล่าว่า  มีเทพนามว่า วัสสกาลเทพบุตร ประทับอยู่ ณ บนสวรรค์ซึ่งจะคอย ดูแลเรื่องน้ำฟ้า น้ำฝน ใครทำถูก ทำชอบ พระองค์ก็จะประทานน้ำฝนให้ ใครทำเรื่องที่ไม่ดี พระองค์ก็จะไม่ประทานน้ำฝนให้  และพระองค์ก็มีความ ชื่นชอบการบูชาด้วยไฟ จังเป็นเหตุให้คนไทยในภาคอีสาน มีการบูชาไฟด้วยการจุดบั้งไฟ จึงเป็นประเพณีที่ดีงามสืบทอด กันมารุ่นแล้ว รุ่นเล่าจนถึงทุกวันนี้
บั้งไฟ  เป็นการนำเอากัมมะถัน ประกอบด้วย ดินประสิวคั่วผสมกับถ่านตำให้ละเอียด แล้วจึงนำไปอัดแน่นในกระบอก

            งาน บุญบั้งไฟ ชาวบ้านจะทำการนัดหมายกัน โดยการทำบุญเลี้ยงพระเพล และประมาณ 3 โมงเย็นหรือ 15.00 น. โดยประมาณทางวัดก็จะตีกลองเป็นสัญญาณบอกให้ทุกคนได้รู้ว่างาน บุญบั้งไฟ ได้เริ่มแล้วให้นำบั้งไฟมารวมกันที่วัด แล้วเริ่มตั้งขบวนแห่โดยเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นขบวนแห่ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันนำรถบรรทุกใส่บั้งไฟ แห่เป็นขบวนไปรอบเมือง ในขบวนแห่ก็จะมีการแต่งตัว การแสดงในท่าทางต่าง ๆ เป็นการสร้างสีสรรให้กับงานแล้วนำบั้งไฟกลับไปที่วัดที่จัดการแข่งขันบั้งไฟ  ซึ่งบั้งไฟก็มีการแบ่งตามขนาดที่กำหนดโดยทั่วไปนิยมทำกันอยู่ 3 ขนาดคือ บั้งไฟธรรมดา บรรจุดินปืนไม่เกิน 12 กิโลกรัม บั้งไปหมื่นบรรจุดินปืนเกิน 12 กิโลกรัม และบั้งไฟแสน บรรจุดินดินปืนถึงขนาด 120 กิโลกรัม ในความเชื่อถ้าบั้งไฟขึ้นสูงนั่นก็หมายความว่าฝนฟ้า ข้าวปลา อาหารก็จะอุดมสมบูรณ์ดี แต่ถ้าบั้งไฟแตกหรือไม่ขั้นก็หมายความ ว่าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูเป็นต้น

สาระ 
            1. เป็นการตักเตือนให้รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งไม่แน่นอน เกษตรกรไม่ควรประมาท 
            2. เป็นงานประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และความสมัครสมานสามัคคีของประชาชน 
            3. กิจกรรมการเซิ้ง สอนให้คนในสังคมรู้จักการบริจาคทาน และการเสียสละ 
            4. เป็นงานประเพณีที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวจังหวัดยโสธร