ร.1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่าด้วงหรือทองด้วง  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะโรงจุลศักราช ๑๐๙๘ หรือวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นบุตรของพระอักษรสุนทร ( ทองดี ) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ กับท่านหยกธิดาเศรษฐี สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี  ( ปาน )   เสนาบดีกรมพระคลัง  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ท่านเข้ารับราชการครั้งแรกโดยถวายตัวเข้าเป็นมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรกรมขุนพรพินิต  เมื่อพระชนมายุ ๑๒ พรรษา ทรงผนวช ณ วัดมหาทลาย เป็นเวลา ๑ พรรษา ทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงยกกระบัตร  เมืองราชบุรี เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา

 

           หลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าได้ ๑ ปี พระองค์ ได้เข้ามารับราชการในกรุงธนบุรีในตำแหน่งพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการกอบกู้บ้านเมืองและทำศึกสงครามมากมาย ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ พระองค์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบเจ้าพิมาย ภายหลังสงครามครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๒  ทรงเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร (กัมพูชา) ตีได้เมืองพระตะบองและเสียมราฐ ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงครามอย่างมากมาย จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเลื่อนยศเป็นพระยายมราช เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตามลำดับ

 

            เมื่อถึงปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราวปีพ.ศ.๒๓๒๔ ขณะสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกำลังไปราชการทัพอยู่ที่เขมร (กัมพูชา) ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างฝ่ายกบฏที่ต้องการควบคุมองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วออกว่าราชการแทน กับฝ่ายต่อต้านกบฏ ก่อความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างมาก สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงยกทัพกลับกรุงธนบุรีทันที และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ เมื่อปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จแล้ว ราษฎรและข้าราชการจึงได้อัญเชิญพระองค์ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินธร มหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๕ นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี