ประเพณีไทยภาคใต้

1.ประเพณีลอยเรือ

               ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้ พิธีกรรมในวันขึ้น 13 ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ เช้าของวันขึ้น 14 ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ ปลาจั๊ก คืนวันขึ้น 14 ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือเพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น 15 ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน บ่ายวันขึ้น 15 ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตาและสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย สาระประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอันเกี่ยวเนื่องกับตำนานความเชื่อความเป็นมาและวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโวย การจัดพิธีฉลองเรือก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับสู่บ้านเมืองเดิม และการส่งสัตว์ไปไถ่บาปเรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำเป็นสัญลักษณ์ของ ยานที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ในเรือ 

  2. งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ

                  งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ พิธีกรรม การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ 100 ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่5 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัดหรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ 18-19 เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฝีพาย 30 คน และฝีพาย 32 คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ 500 เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพร 

 3. ประเพณีการเดินเต่า 

     ประเพณีการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม 100กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ 4 ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่น บริเวณใกล้ ๆ กัน เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิสดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้ว หลังจากนั้นไปเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว 10-20 เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้ ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่นั้นเป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมาและไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่น ครั้งที่ 1 ขึ้นมาวางไข่ในแรม8 ค่ำ เดือน 11 ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 11 (หลังจากครั้งก่อน 7 วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 12 (หลังจากครั้งก่อน 14 วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า ผูกเต่า