โรคมือเท้าปาก

( Hand, Foot and Mouth Disease ) โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มที่อยู่ในลำไส้คน มักพบเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งทารกและเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ส่วนผู้ใหญ่ก็พบเป็นโรคนี้ได้ โรคนี้มักพบในสถานที่รับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อย แต่มักไม่มีความรุนแรง และหายได้เองภายใน 7 - 10 วัน บางรายอาจมีอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ควรดูแลรักษาความสะอาดทั่วไป และสุขอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือ ฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนเตรียมอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ควรใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน ขวดนม ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลี อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แยกเด็กป่วย ออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย หลีกเลี่ยงการนำทารกและเด็กเล็กเข้าไปในสถานที่แออัด หรือที่ๆ เด็กอยู่ร่วมกันจำนวนมาก หรือเล่นของเล่นร่วมกันในที่สาธารณะ ในช่วงที่มีโรคระบาดมาก ผู้ดูแลเด็กต้องตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว เมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม เสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ ทำความสะอาดพื้น เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็ก ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค อย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาฟอกขาว (คลอร็อกซ์) อัตราส่วน คือ น้ำยา 20 ซีซี. ต่อ น้ำ 1,000 ซีซี. และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ถ้าพบผู้ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรคต่อไป ข้อมูลประกอบ อาการของโรคมือ เท้า ปาก มีไข้ 2 - 4 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บภายในปากและคอ ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัด มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น ต่อมาผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ ถ้าเด็กมีอาการเหล่านี้หรือซึม ไม่รับประทานอาหารและน้ำ น้ำลายไหล อาเจียนบ่อย ควรเรียบพาไปพบแพทย์ทันที ภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กๆ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจเสียชีวิตได้ โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร เชื้อโรคอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ น้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย เชื้อโรคเข้าทางปากโดยตรง ซึ่งอาจติดมากับมือ ของเล่น ไอ จาม หรือใช้ภาชนะในการรับประทาน หรือดื่มร่วมกัน โรคนี้จะติดต่อกันได้ง่าย ในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และจะพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยได้นาน ประมาณ 6 สัปดาห์ หลังจากเริ่มป่วย

Content's Picture

Comment(s)


Vote this Content ?

Create by :


BaiYok

Status : ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ