ธรรมะสำหรับวัยรุ่น

มีเพื่อนคนหนึ่งถามว่า ธรรมะอะไรที่เหมาะสำหรับวัยรุ่นบ้าง เห็นเขียนแต่ธรรมะสำหรับวัยใกล้ร่วงเสียส่วนมาก

ความจริงธรรมะนั้น ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับจะใช้อะไร กับสถานการณ์อะไร ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ธรรมะมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ คนไทยเรามักจะเน้นเฉพาะแง่ลบ ไม่ค่อยเน้นแง่บวกกัน ผมได้ยินคำพูดนี้แล้วเกิด 'เก็ต' ขึ้นมาทันที ธรรมะแง่ลบน่าจะเหมาะกับคนคนสูงวัย

เพราะธรรมชาติของ ส.ว. (คนสูงวัย) มักจะมองในแง่ลบมากกว่า เช่นความไม่เที่ยงแท้ ความไม่แน่นอน ชีวิตนี้สั้นนัก เพื่อเตือนสติว่า เวลายังเหลือน้อยแล้ว ควรทำความดีให้มาก ดังที่พูดว่า 'เกิดมาทั้งที ทำดีให้ได้ จะตายทั้งที ทำดีฝากไว้' อะไรประมาณนั้น

แต่เด็กๆ เขามักจะมองไปข้างหน้า ไม่มาเสียเวลามองว่าอายุเราเหลือน้อย เพราะฉะนั้น ธรรมในแง่ลบไม่ค่อยจะเหมาะ ต้องเอาธรรมะในแง่บวกมาสอน เช่น ทำอย่างไรจึงจะเป็นที่รักของเพื่อนๆ ทำอย่างไรจึงจะมีเสน่ห์ ทำอย่างไรบุคลิกจะต้องตาต้องใจคน ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่ง อะไรประมาณนั้น

นักโฆษณาสินค้าเขาเข้าใจจิตวิทยาในแง่นี้ดี จึงผลิตสื่อโฆษณา (ขอประทานโทษ ขอเลี่ยง เพราะไม่ได้ค่าโฆษณา) เช่น 'ปลาร้า' รวยเพื่อน เพราะทำให้เข้าใจว่ากินปลาร้ายี่ห้อนี้แล้ว จะมีเพื่อนเยอะ

โบราณไทยท่านก็เอะใจเรื่องนี้เหมือนกัน จึงพยายามสร้างธรรมะแง่บวกขึ้นมา ทั้งๆ ที่เดิมก็มีแง่บวกอยู่แล้ว อย่างเช่น ศีล 5 ท่านก็เพิ่ม ธรรม 5 ขึ้นมา โดยอธิบายว่าแค่ศีล 5 ยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีธรรม 5 เข้ามาเสริม ตกลงเลยมี ทฤษฎี ศีล 5 ธรรม 5 ขึ้นมา เฉพาะในหมู่ชาวพุทธไทย

ที่ว่าเฉพาะหมู่ชาวพุทธไทย ก็เพราะว่าชาวพุทธอื่นเขาไม่แยกอย่างนี้ ตกลงถ้านำทฤษฎี ศีล 5 ธรรม 5 ไปสื่อสารกับชาวพุทธทั่วโลก ไม่มีใครเข้าใจ เพราะเขาไม่ได้แยกอย่างนี้

พระพุทธเจ้าเองก็มิได้แยก ในหลักการฝึกฝนอบรม มีศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหมวดธรรมหมวดหนึ่งเรียกว่า 'ไตรสิกขา' ศีลก็คือธรรมอย่างหนึ่ง (ธรรมขั้นศีล) สมาธิก็คือธรรมอย่างหนึ่ง (ธรรมขั้นสมาธิ) ปัญญาก็คือธรรมอย่างหนึ่ง (ธรรมขั้นปัญญา) เป็นธรรมหมด ไม่มีแบ่งว่า ศีลอย่างหนึ่ง ธรรมอีกอย่างหนึ่ง

คือในธรรมคือศีลนั้นเอง มีทั้งแง่บวกและแง่ลบอยู่ในตัวพร้อมสรรพ ถ้าจะให้เข้าใจชัดให้ดูคำนิยามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ 'พระอริยสาวกผู้สดับ ย่อมเว้นขาดจากการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป (แง่ลบ) ย่อมวางศาสตราอาวุธ (แง่ลบ) มีจิตเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย (แง่บวก)'

ความหมายของศีลในแง่ลบ (ที่คนไทยเรียกว่าศีล) นั้นคือ เว้นขาดจากการยังชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไปความหมายง่ายๆ คือการฆ่าสัตว์ครับ เป็นผู้วางศัตรูอาวุธ และ (ในแง่บวก) มีจิตเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย (ที่คนไทยเรียกว่าธรรม)

ทั้งศีลและธรรมในความหมายของคนไทย ก็คือ ศีลทั้งในแง่บวกและแง่ลบนั้นเอง เมื่อจะสอนศีลแก่วัยรุ่นก็ควรเน้นศีลในแง่บวกมากกว่าในแง่ลบอย่างเดียว เช่น ศีลข้อหนึ่งคือ ความเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลก และคิดช่วยเหลือเกื้อกูเท่าที่สามารถทำได้ ศีลข้อสองคือ การรักษาสิทธิในทรัพย์สินของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ศีลข้อที่สามได้แก่ การรักษาสิทธิในของรักของหวงของคนอื่น ศีลข้อสี่ได้แก่ความซื่อสัตย์จริงใจต่อตนเองและคนอื่น ศีลข้อห้าได้แก่มีสติกำกับตัวเองทุกการเคลื่อนไหว การกระทำ ถ้านำเสนอในแง่นี้ ไม่แน่ วัยรุ่นอาจเห็นธรรมะเป็นเรื่องน่าจับต้องก็ได้ ใครจะไปรู้


เมื่อบ่นพอสมควรแล้ว ขอตอบคำถามของเพื่อนว่า ธรรมะสำหรับวัยรุ่น ที่น่านำเสนอคือ (อาจมีหลายหมวดแต่คราวนี้ขอพูดเรื่องเดียวก่อน) 'ดรุณธรรม ธรรมะสำหรับวัยรุ่น' 6 ประการคือ

1.อาโรคยะ (ความมีสุขภาพสมบูรณ์) สุขภาพกายเช่นมีพลานามัยแข็งแรงอันรวมไปถึงการรู้จักกิน ดื่มหรือบริโภคปัจจัยสี่อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้สุขภาพกายสมบูรณ์ ไม่บริโภค 'ขยะ' หรือสิ่งเป็นพิษแก่ร่างกายดังคำเตือนของสุภาษิตจีนว่า 'โรคเข้าทางปาก ภัยออกจากปาก' ทางพระเวลาท่านสอนพระบวชใหม่ท่านจะให้พิจารณาปัจจัยสี่ที่จะเสพนั้นให้ถูกต้องเหมาะสม สรุปง่ายๆ คือให้บริโภคปัจจัยสี่ด้วยคุณค่าแท้ ไม่ใช่ด้วยคุณค่าเทียม ความไร้โรคนี้เป็นผลของการรู้จักกิน อยู่ ใช้ ปัจจัยสี่ถูกต้องและเหมาะสม

ในแง่สุขภาพจิตก็คือ จะต้องฝึกฝนอบรมจิตให้มีคุณภาพ (เช่นมีความเมตตากรุณาเอื้ออาทรต่อผู้อื่น มีพฤติกรรมไม่ก้าวร้าวเบียดเบียนคนอื่น) เห็นอกเห็นใจคนอื่น อย่างที่พระท่านว่า 'เอาใจเขามาใส่ใจเรา' ฝึกจิตให้มีสมรรถภาพคือเข้มแข็ง เช่น มีความอดทนพากเพียรพยายามสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ มีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ปล่อยให้ไหลไปตามกระแสความเย้ายวน มีปณิธานแน่วแน่มั่นคงต่อความตั้งใจจะทำดีไม่ท้อถอย 'รู้จักปิดทองหลังพระ' ดังพระราชกระแสที่รับสั่งแก่พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ที่กราบทูลว่า ขอปิดทองหลังพระได้ไหม เพราะทำดีมากมายไม่มีใครเห็น พระองค์รับสั่งว่า 'ปิดหลังพระนั้นแหละ ปิดให้มากๆ เข้าแล้วมันจะล้นมาข้างหน้าเอง' ผู้ทำได้ดังพระราชกระแสรับสั่งนี้ถือว่า มีจิตมีสมรรถภาพ

สุดท้ายต้องฝึกฝนจิตให้มีสุขภาพ คือสร้างความสบายผ่อนคลาย และปีติสุขให้เกิดแก่จิตบ้าง อย่ามัวแต่เครียดๆ จนวันๆ ไม่เคยยิ้มไม่เคยหัวเราะเลย อยู่ที่ไหนก็สร้างบรรยากาศอึดอัดให้เกิดขึ้นที่นั่น บางคนคิดว่าการทำตัวเคร่งขรึม ไม่ยิ้มให้แม้กับคนที่ทักเรา เป็นการวางบุคลิกท่าทีที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ แต่ถ้าท่านทราบว่า การไม่รู้จักยิ้ม ไม่รู้จักหัวเราะนั้น นานไปจะช่วยให้เซลล์มะเร็งมันพัฒนาเร็วเข้า บางทีอาจจะยิ้มเป็นกับเขาบ้างก็ได้

2.ศีล ได้แก่มีพฤติกรรมไม่เบียดเบียนตัวเองและสังคม เพียงไม่ทำความชั่วไม่นับว่าเป็นศีลที่สมบูรณ์ ดังบางคนชอบพูดว่า 'เราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน' หรือ 'ไม่ได้ขอข้าวใครกิน' การไม่ให้ใครเดือดร้อน หรือไม่ขอข้าวใครกิน ดูลึกๆ แล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่น สิ่งอื่นอยู่ในมิติหนึ่ง สมัยผมอยู่ที่ลอนดอน วัดไทยที่สร้างใหม่ยังไม่มีป้ายด้วยความปรารถนาดีเราก็เขียนป้ายไปปักหน้าซอย เพื่อนบ้านเขาโวยวายใหญ่ เราว่าเอ ก็ที่ของเรานี่ เขาบอกว่า ป้ายมันไม่ได้มาตรฐาน ทำลายความงามหมด อ้อ เราทำความเดือดร้อนแก่สภาพแวดล้อม ทำให้เสียความงามแล้วลึกไปถึงทำลายสุขภาพจิตของคนดูคนเห็นด้วย ศีลมันมีความลึกซึ้งปานนี้นะครับ

3.พุทธานุมัติ ทำตามอย่างผู้รู้ ผู้รู้นัยสูงสุดคือพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย นัยอย่างต่ำก็คือผู้เป็นพหูสูต ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ คนเราก็ต้องฟังท่านผู้รู้ทั้งหลาย อะไรที่ดีงามก็ปฏิบัติตามแบบอย่างของท่าน อย่าได้กำแหงว่า มึงรู้น้อยกว่ากู บางทีผู้ที่รู้น้อยๆ นั่นแหละ เขามีวิธิปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกว่าเราผู้รู้มากก็ได้ นิทานศาสตราจารย์ผู้แบกคัมภีร์เต็มสมอง นั่งเรือจ้าง ซักถามว่าเรื่องนี้เธอรู้ไหม เรื่องนั้นเธอรู้ไหม เมื่อคนแจวเรือบอกว่า 'ไม่ทราบ ครับ' ก็ตะคอกว่า 'อะไรง่ายๆ แค่นี้ก็ไม่รู้ โง่จังแกนี่' ทันใดนั้นคนแจวเรือก็แกล้งทำเรือโคลงเคลงจะคว่ำ ศาสตราจารย์ร้องลั่นกลัวเรือล่ม คนแจวเรือถามว่า ท่านว่ายน้ำเป็นหรือเปล่า ศาสตราจารย์บอกว่าไม่เป็น จึงพูดว่า 'อะไร แค่ว่ายน้ำง่ายๆ นี้ก็ไม่เป็นเรอะ' แล้วก็แกล้งทำเรือโคลงเคลงหนักขึ้น ศาสตราจารย์ผู้รู้มากร้องลั่นเหมือนวัวถูกเชือด พระยาอนุมานราชธน ท่านเตือนว่าอย่าดูถูกคน เพราะความรู้บางอย่างท่านได้จากเด็กๆ จึงสามารถชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้สมบูรณ์ขึ้น

4.สุตะ ความใฝ่รู้ตามศัพท์หมายถึงฟังมาก เดี๋ยวนี้รวมไปถึงการอ่าน การศึกษาจากข้อมูลต่างๆ มากมาย สมัยก่อนนี้เน้นเฉพาะการฟัง เพราะการหาความรู้มักจะหาได้จากการฟังจากท่านผู้รู้อย่างเดียว เดี๋ยวนี้แหล่งข้อมูลมีมากขึ้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จะไม่มีแหล่งข้อมูลพอ แต่กลายเป็นว่ามีมากเกินไป ทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์ และข้อมูลที่เป็นโทษ หรือข้อมูล 'ขยะ' คนสมัยใหม่นี้จึงต้องมีท่าทีเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ มิใช่เพียงแต่ใฝ่รู้เท่านั้น ต้องมีวิจารณญาณเลือกข้อมูลด้วยว่าอย่างไหนควรรับ อย่างไหนควรไตร่ตรองก่อนรับ หรืออย่างไหนที่ไม่เป็นประโยชน์แต่เราสามารถแปลงให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง

ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีคิด 10 วิธี ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษามาก ใน 10 ประการนั้น ย่อลงเป็น 4 คือ (1) คิดเป็นระบบระเบียบ (2) คิดถูกวิธี (3) คิดมีเหตุผล (4) คิดเร้ากุศล หรือคิดสร้างสรรค์ในทางดี ข้อที่ (4) นี้เป็นตัวควบคุมให้ความคิดเป็นไปในทางถูกต้องยิ่งขึ้น

5.ธรรมานุวัติ ประพฤติถูกต้อง เน้นความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และความถูกต้องยุติธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของชาติ อนุชนควรประพฤติปฏิบัติ อย่าคิดดูถูกเหยียดหยามรากเหง้าของตนเอง หันไปเชิดชูวัฒนธรรมเปลือกกระพี้จากนอกด้วยความเห่อ การสอนให้เด็กกล้า รู้จักแสดงออกนั่นถูกต้อง แต่ต้องรู้ว่าความกล้าแสดงออกกับความหน้าด้าน กักขฬะ เย่อหยิ่งจองหอง มันคนละอย่างกัน วัฒนธรรมไทยเน้นความอ่อนน้อมอ่อนโยนรู้จักสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ แต่ก็มิได้ปิดกั้นความกล้าแสดงออกในทางที่ถูก การนุ่งน้อยห่มน้อยโชว์สะดือ (ดำๆ) กางเกงจะหลุดมิหลุดแหล่ เป็นแฟชั่น ก็มิได้ห้ามไม่ได้ทำ แต่กาละเทศะต้องรู้ว่า ที่ใดควรใส่ไม่ควรใส่ ขืนใส่ไปตักบาตรก็ทำลายสมาชิกพระสงฆ์องค์เจ้ากันเท่านั้น ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ (ปยุตฺโต) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า การจะประพฤติตามฝรั่งนั้นไม่เสียหาย แต่ทางที่ดีควรกรองด้วยว่าอย่างไหนของเขาเสียไม่ควรเอามา อย่างไหนของเขาดีควรจะเอามา ที่ฝรั่งเขาพัฒนาทางด้านวัตถุมากมายนั้น ต้องรู้ด้วยว่าสาเหตุที่เขาเจริญขนาดนี้มาจากอะไร แล้วเราจะสามารถสร้างเหตุแห่งความเจริญนั้นเท่ากับเขาหรือให้มากกว่าเขาได้ไหม ไม่ใช่รับเอามาแต่ความคิดที่จะบริโภคของที่เขาสร้าง ต้องคิดสร้างสรรค์ด้วย

ญี่ปุ่นนั้นเขาส่งคนไปเรียนเมืองนอก ขั้นตอนแรกให้ไปเลียนแบบฝรั่ง พอเรียนได้แล้วให้พัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งกว่าฝรั่ง และสุดท้ายให้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ให้ถูกกว่าฝรั่ง และมีคุณภาพดีกว่าฝรั่ง แค่นี้ก็ตีตลาดฝรั่งได้ พี่ไทยนั้นแค่เลียนแบบฝรั่งยังไม่เป็น ได้แต่ใช้ของที่ฝรั่งผลิต แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะเจริญครับ

6.อลีนตา ความกระฉับกระเฉง พากเพียรไม่ท้อถอย ข้อนี้เป็นสัญลักษณ์วัยรุ่นก็ว่าได้ วัยรุ่นเป็นวัยที่กระฉับกระเฉง ไม่อืดอาดเชื่องช้า เฉื่อยชา คนแก่ถ้ามีความกระฉับกระเฉงไม่เฉื่อยชา มีความกระตือรือร้น ก็เรียกว่าเป็น 'วัยรุ่น' ในแง่สาระ เพราะความเป็นวัยรุ่นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่วัย หากแต่ขึ้นอยู่ที่การกระทำ

ความพากเพียรเป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก ถึงกับตรัสว่า ศาสนาของพระองค์เป็นศาสนาของผู้พากเพียร ใครไม่แกร่งจริงอยู่ในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ ทรงชี้ไปที่โคนไม้ ป่าเขาว่าโน่นแหละคือสถานฝึกฝนความอดทนเพื่อผลคือการบรรลุธรรม ทรงเล่าถึงพระโพธิสัตว์ต่างๆ ตั้งปณิธานเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า แต่ละภพแต่ละชาติ พากเพียรบำเพ็ญบารมีอย่างทรหดอดทนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ เช่นพระมหาชนกไปค้าขาย เรือแตกกลางทะเล คนอื่นตายหมดพระมหาชนกก็พยายามแหวกว่ายในทะเล 7 วัน 7 คืน จนนางมณีเมขลาถามว่า 'ท่านว่ายก็ตาย ไม่ว่ายก็ตาย แล้วจะพยายามอยู่ทำไม' พระมหาชนกกล่าวตอบว่า 'เกิดเป็นคนต้องพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จประโยชน์' เทวดาย้อนว่า ถ้าไม่สำเร็จล่ะ พระมหาชนกตอบว่า ถึงไม่สำเร็จก็ไม่มีความค้างคาใจ อย่างน้อยได้พยายามถึงที่สุดแล้ว นับว่าไม่เป็นหนี้ใคร (คือชีวิตร่างกายนี้ยืมธรรมชาติมา ก็ได้ใช้เต็มที่แล้ว ไม่เป็นหนี้อีกต่อไป)

ในหลวงของเราทรงพระราชนิพนธ์ 'พระมหาชนก' แนวใหม่ เพื่อเตือนให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีความพากเพียรพยายามและมีปัญญา โดยพระองค์ได้ทรงปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น แล้วที่พากันเรียกพระองค์ว่า 'พ่อๆ' น่ะ ทำตามคำสอนของ 'พ่อ' บ้างหรือเปล่า หรือได้แต่ 'สัญจรอยู่แต่ในโมหาคติ' โดยเฉพาะเหล่าเสนามาตย์ทั้งหลาย ยังขยันปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณ ดีอยู่หรือ หรือได้แต่ 'สัญจรไปตีกอล์ฟ' ไปวันๆ
ธรรมะกับวัยรุ่น..

ท้ายนี้ขอนำบทสรุป 'ดรุณธรรม' แต่งไว้นานแล้ว มาลงไว้ดังนี้

อาโรคยะ จะไร้โรคา ชอบเล่นกีฬาเหมาะสม

แข็งแรงสดชื่นรื่นรมย์ นิยมในพลานามัย

ศีละ ประพฤติปกติ มิเหิมเริ่มริเหลวไหล

เป็นคนควรมีวินัย ไม่ก่อเวรภัยแก่กัน

พุทธานุมัติจัดทาง แบบอย่างท่านผู้รู้นั่น

ทำตามท่านนี้ดีครัน คืออันตรายไม่มี

สุตะ สดับตรับมาก หลายหลากความรู้อยู่นี่

พากเพียรเรียนให้จงดี เพื่อชีวิตนี้ดีงาม

อนึ่ง ธัมมานุวัติ ปฏิบัติชอบไปไม่ขาม

ไม่เลวเหลวไหลใฝ่ทราม ทำตามทำนองคลองธรรม

อลีนตา เฉื่อยชาไม่มี จิตนี้มิได้ใฝ่ต่ำ

กระฉับกระเฉงประจำ กิจกรรมทำไปไม่วาย

หกประการฐานธรรมสำหรับ เหมาะกับเยาวชนทั้งหลาย

วัยรุ่นทั้งหญิงและชาย ควรอายถ้าใครไม่มี

อย่าได้ปล่อยใจปล่อยตัว มั่วมั่วเดี๋ยวกลายเป็นผี

เด็กแนวถ้าใครไม่มี ธรรมหกประการนี้น่าอาย

ที่มา http://www.palungjit.com/

Content's Picture

Comment(s)


Vote this Content ?

Create by :


kappy

Status : ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ