จันทรุปราคา

      จันทรุปราคา

          จันทรุปราคา (เรียกได้หลายอย่าง ตัวอย่างเช่น จันทรคาธ, จันทรคราส, ราหูอมจันทร์ หรือ กบกินเดือน) คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์, โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี หากเกิดขึ้นในช่วงพระจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงจันทร์ผ่านเงาของโลก จะเรียกว่า จันทรุปราคา ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแม้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อในหลายวัฒนธรรมมาช้านาน รวมทั้งของไทยด้วย ซึ่งลักษณะของจันทรุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์ที่เคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกในเวลานั้นๆ

    จันนทรุปราคา 16 มิถุนายน 2554

      จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้เกิดในเช้ามืดวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2554 (เฝ้ารอสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่คืนวันพุธที่ 15 มิถุนายน) ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 01:23 น. ขณะนั้นที่ประเทศไทยเห็นดวงจันทร์อยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันตก ดวงจันทร์เข้าไปในเงามืดทั้งดวงตั้งแต่เวลา 02:22 น. ถึง 04:03 น. แต่ดวงจันทร์ไม่มืดสนิท เห็นเป็นสีส้มหรือสีแดงอิฐ เพราะแสงอาทิตย์หักเหผ่านบรรยากาศโลกไปที่ดวงจันทร์ จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดเวลา 05:02 น. เวลานั้นที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์มีมุมเงย 11° พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทยคือทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 16 มิถุนายน 2554

  1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 00:24:34 น.
  2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน 01:22:55 น.
  3. เริ่มเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง 02:22:29 น.
  4. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 03:12:36 น.
  5. สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง 04:02:42 น.
  6. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน 05:02:15 น.
  7. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 06:00:44 น.

จันทรุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลาเต็มดวงยาวนานถึง 1 ชั่วโมง 40.2 นาที นานที่สุดนับตั้งแต่จันทรุปราคา 16 กรกฎาคม 2543 ซึ่งยาวนาน 1 ชั่วโมง 46.4 นาที (ครั้งนั้นก็สามารถเห็นได้ในประเทศไทย แต่สภาพท้องฟ้าไม่อำนวย) หลังจากปี 2554 จันทรุปราคาเต็มดวงที่มีระยะเวลามืดเต็มดวงนานเกิน 100 นาที จะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งสามารถเห็นได้ในประเทศไทยอีกเช่นกัน

ขณะบังเต็มที่เวลา 03:13 น. ศูนย์กลางเงาโลกจะอยู่ค่อนไปทางทิศใต้ของดวงจันทร์ ทำให้คาดหมายได้ว่าพื้นที่ด้านทิศเหนือของดวงจันทร์ซึ่งอยู่ทางขวามือเมื่อมองขึ้นไปบนฟ้าน่าจะสว่างกว่าทิศใต้ นอกจากนี้หากไม่มีเมฆมากนัก ผู้ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมีโอกาสเห็นทางช้างเผือกในคืนวันเพ็ญขณะที่ดวงจันทร์ถูกเงาโลกบดบังทั้งดวง

จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นจันทรุปราคาครั้งที่ 34 ใน 71 ครั้ง ของชุดซารอสที่ 130 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1416 - 2678 ชุดซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 8 ครั้ง บางส่วน 20 ครั้ง เต็มดวง 14 ครั้ง บางส่วน 22 ครั้ง และเงามัว 7 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2029 นาน 1 ชั่วโมง 41.9 นาที (นานกว่าครั้งที่เกิดในปีนี้เพียงไม่ถึง 2 นาที)

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


pattanapong

สถานะ : ผู้ช่วยผู้ดูแลระบบ
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ