CSOC ล่าเว็บผิดกฏหมาย

 การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยมีจำนวนเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 17.5 ล้านคน  ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตัวเลขเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตขยายโครงข่ายครอบคลุมในหลายพื้นที่ ประกอบกับราคาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีราคาถูกลง

 

CSOC

 

          นอกจากนี้การที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเปิดตัวบริการโทรศัพท์มือถือระบบ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิม ยิ่งทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้น เกือบทุกที่ และทุกเวลา  เพียงมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับ ก็สามารถท่องเน็ตได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก

อย่างไรก็ตามการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย เสมือนเป็นดาบสองคม หากใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นประโยชน์มากมายมหาศาล แต่หากใช้ไปในทางที่ผิด ก็จะส่งผลเสียต่อผู้ใช้งาน จนลุกลามกลายเป็นปัญหาต่อประเทศ ทั้งในด้านสังคมไปจนถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีเว็บไซต์ผิดกฎหมายและมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯ เว็บไซต์การพนัน หลอกลวง และเว็บไซต์ลามกอนาจาร

การเฝ้าระวังภัยคุกคามจากเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบหนีไม่พ้นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ต้องบังคับการใช้กฎหมาย
ไอซีที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550” ให้เกิดผลสูงสุด

กระทรวงไอซีทีได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์
เน็ต (Internet Security Operation Center :  ISOC ) หรือไอซ็อก  ตั้งแต่ปี 2552 ในสมัย ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที   เพื่อติดตามเฝ้าระวังเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม รวมถึงประสานความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ต่อมาในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา ทาง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คนปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนศูนย์ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตมาเป็นศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัย
ทางไซเบอร์ (Cyber Security Operation Center  : CSOC)  หรือซีซ็อก โดยตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัย
ทางไซเบอร์ อาคาร 9 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีภารกิจหน้าที่ในการดูแลและป้องกันภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ และเครือข่ายสังคมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม 
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า  การยกระดับพัฒนาศูนย์ดังกล่าวขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการระงับยับยั้งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมที่แพร่หลายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการพัฒนาระบบมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มความสามารถ มาถึงรัฐบาลชุดนี้การแพร่หลายของข้อมูลที่ไม่เหมาะสมไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่การแพร่หลายเปลี่ยนไป จากที่คนไทยใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในสมัยก่อนใครจะเป็นเจ้าของเว็บไซต์ต้องมีการลงทะเบียน มีค่าใช้จ่าย การทำเว็บไซต์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก การที่จะเปิดเว็บไซต์ ทำเว็บบอร์ด เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมมีจำนวนจำกัด และ ผู้ที่เข้าค้นหาข้อมูลต้องมีเจตนาที่จะเข้าไปค้นหาหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม

“ในปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น  โดยต้นปี 2554 จะเห็นตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดของคนไทยจำนวนเพียง 6.5 ล้านคน มาถึงปลายปีที่ผ่านมาจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทั้งหมด 17.5 ล้านคน โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์มีลักษณะพิเศษที่ทำให้ผู้ใช้บริการเข้ามาลงทะเบียนกับผู้ให้บริการแล้วสามารถผลิตเว็บไซต์ของตัวเองได้ทันที และยังมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเครือข่ายของตนเอง โดยการที่ส่งข้อมูลแลกเปลี่ยนกระจายไปได้อย่างแพร่หลายครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ลักษณะการแพร่กระจายสามารถแพร่หลายไปได้อย่างรวดเร็ว”

รมว.ไอซีที กล่าวว่า   การใช้ระบบเดิม คือเมื่อมีหน้าเว็บไซต์หรือยูอาร์แอล ( URL : Uniform Resource Locator คือ ตัวบ่งบอกข้อมูล หรือที่อยู่ (Address) ของไฟล์หรือเว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต)  ที่ไม่เหมาะสม แล้วดำเนินการตามกระบวนการจนได้คำสั่งศาลให้ทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต  (ไอเอสพี) ในประเทศ ทำการปิดกั้นการเข้าถึงก็เป็นวิธีการเดิมที่ทำอยู่  แต่เมื่อทางรัฐบาลชุดนี้ได้ปรับปรุง CSOC ก็ได้เพิ่มทั้งอุปกรณ์ เพิ่มศักยภาพ วิธีการทำงาน เพื่อกำกับดูแลเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในสังคมออนไลน์ด้วย โดยจำเป็นต้องเปิดศูนย์ฯ ทำหน้าที่ 24 ชั่วโมง  ด้วยบุคลากร 20 คน  เพื่อทำหน้าที่ระงับยับยั้งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ทันเวลา จากที่เมื่อก่อนไม่ได้ดำเนินการแบบนี้

อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินการกับเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายนั้น โดยแบบแรก รัฐบาลชุดก่อนทำมายังไงรัฐบาลชุดนี้ก็ทำเหมือนเดิม ซึ่งเมื่อพบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมในเว็บไซต์ก็ทำหนังสือรายงานยูอาร์แอลที่ไม่เหมาะสมไปให้ศาลวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยกลับมาก็จะดำเนินการให้ไอเอสพีในประเทศปิดกั้นยูอาร์แอล โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งกระบวนการเป็นไปตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550  สำหรับแบบที่สองในส่วนสังคมออนไลน์เป็นอีกวิธีที่รัฐบาลชุดนี้ทำขึ้นมาก็คือ การทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการต่างประเทศ โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก และยูทูบ ซึ่งเป็นสองผู้ให้บริการสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมของคนไทยและใช้ช่องทางนี้กันมาก หากทำวิธีการเดิมไม่สามารถปิดกั้นได้

เพราะขณะนี้เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสามารถแพร่หลายได้หลายยูอาร์แอลในเวลาอันสั้น ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ CSOC ตรวจพบเอง หรือทางประชาชนร้องเรียนผ่านฮอตไลน์โทร. 1212 หรือแจ้งผ่านอีเมลที่  1212 @mict.mail.go.th   ทางศูนย์ฯจะทำรายงานอธิบายเนื้อหาเป็นภาษาอังกฤษแจ้งไปยังผู้ให้บริการที่มีอำนาจในการระงับยับยั้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้น

กระทรวงไอซีทีได้ทำความเข้าใจจนกระทั่งผู้ให้บริการในต่างประเทศให้ความร่วมมือในการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยในโลกอินเทอร์เน็ตด้วย โดยจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นเขียนรายงานส่งไปและอธิบายผ่านขั้นตอนออนไลน์ใช้เวลาประมาณ 1 วัน  ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่ดีกว่าเดิมมากเพราะวิธีเดิมเป็นการปิดกั้นในประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมเหล่านั้นจะหมดไป เพราะเมื่อออกไปนอกประเทศ หรือใช้ไอเอสพีต่างประเทศ ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้

“การทำความเข้าใจแบบนี้ จะทำให้ผู้ให้บริการในต่างประเทศหยิบเนื้อหาออกจากระบบไปเลย การขอความร่วมมือไปแต่ละชุดข้อมูล จะทำให้หลายพันยูอาร์แอลที่แพร่กระจายออกไปโดยเครือข่ายสังคมออนไลน์หมดไปด้วย  หมายความว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ทำให้สามารถระงับยับยั้งข้อมูลเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.ไอซีที ระบุ

กระบวนการทั้งหมด ทาง รมว.ไอซีที  กล่าวว่า สำหรับเฟซบุ๊กใช้เวลาเพียง 1-2  วัน ส่วนยูทูบใช้เวลา 1-3 วัน ตั้งแต่เริ่มรับแจ้งข้อมูล ส่งรายงานข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษไปยังผู้ให้บริการเพื่อระงับการเผยแพร่ ทั้งหมดเกือบ 100% ยกเว้นบางรายการอาจถูกส่งกลับมาอีกครั้งหนึ่งหากว่าการตีความจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอาจจะยังมีคำถามอยู่  แต่เมื่ออธิบายถึงข้อสงสัยที่ย้อนกลับมาส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาเท่าไร

อย่างไรก็ตามจากในช่วงเวลาในการดำเนินการ 24-48 ชั่วโมง จะต้องให้ความรู้ประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดการเผยแพร่ไปทางอ้อม โดยผู้ที่ใช้สังคมออนไลน์ไปพบข้อความเหล่านั้นขอให้รายงานมาทางฮอตไลน์ อย่าได้ไปส่งเพราะจะทำให้เพื่อนในเครือข่ายได้รับข้อความส่งต่อไปด้วยและหากเพื่อนหลายคนได้รับข้อความแล้วกระจายส่งต่อไปอีกก็จะทำให้เกิดการกระจายยูอาร์แอลใหม่ ๆ และทำให้ผู้ไม่พึงประสงค์จะเห็นข้อมูลเหล่านี้ต้องเห็นไปด้วยจึงเป็นการเผยแพร่ทางอ้อม

“การใช้คำสั่งศาลเพื่อดำเนินการแบบเดิมก็ยังดำเนินการอยู่ในเว็บไซต์ทั่วไป แต่ทุกวันนี้การใช้ข้อความไม่เหมาะสมได้ขยายเข้ามาสู่สังคมออนไลน์ด้วยส่วนหนึ่งและแพร่หลายได้รวดเร็ว แต่ละชุดข้อมูลไปได้หลายยูอาร์แอล ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีสามารถระงับยับยั้งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมไม่ให้แพร่หลายในสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เดือนก.ย.-พ.ย. ได้มากกว่า 60,000 ยูอาร์แอล”

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวต่อว่า เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บหมิ่นฯ  เว็บการพนันออนไลน์ และเว็บลามกอนาจาร ล้วนอยู่ภายใต้การทำงานของ CSOC แต่ที่ผ่านมาหลายคนจะมีความเข้าใจว่า ไอซีทีดำเนินการเฉพาะเรื่องของเว็บหมิ่นฯ ก็เพราะว่ามีข่าวที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ  แต่ว่าช่องทางทั้งสองช่องก็เป็นช่องทางให้ผู้ที่ต้องการร้องเรียนเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด ที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2550  สามารถแจ้งเพื่อให้กระทรวงไอซีทีดำเนินการ ซึ่งก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

“เมื่อไรก็ตามที่ไม่มีการจุดกระแสเรื่องดังกล่าวขึ้นมาก็จะทำให้คนไม่ได้อยากรู้ ส่วนคนที่เข้าไปเพื่อที่จะเข้าไปดูข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นคนที่มีความประสงค์เข้าไปดูแต่ต้น แต่อาจจะมีการจุดกระแส มีข่าวเรื่องดังกล่าว จึงทำให้พี่น้องประชาชนสนใจ และอยากจะเข้าไปดู สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ก็อยากให้พี่น้องประชาชนที่มีเจตนาที่ดีอย่าไปส่งต่อกันหรือเผยแพร่ทางอ้อม เพราะทำให้คนจำนวนมากที่อยากจะรู้เข้าไปค้นหาข้อมูลเหล่านั้น”

สำหรับที่หลายฝ่ายมองว่าไอซีทีไม่ดำเนินการเรื่องนี้ รมว.ไอซีที กล่าวว่า  อยากจะขอยกตรรกะง่าย ๆ ถ้าหากผมเป็นรัฐมนตรี มาทำหน้าที่ตรงนี้แล้วสั่งการให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการระงับข้อความที่ไม่เหมาะสม  มีทั้งกระทรวงไอซีที สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพ  สำนักข่าวกรอง  สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ  และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีรัฐมนตรีหรือไม่มี  หน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีข้าราชการที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  การดำเนินการไม่ว่าจะรัฐบาลไหน ข้าราชการเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็งมาตลอด ดังนั้นการที่ฝ่ายค้านออกมาพูดว่ารัฐมนตรีไม่ทำงาน จึงผิดตรรกะโดยสิ้นเชิง

“ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนสามารถจะไปสั่งการให้ข้าราชการที่จงรักภักดีและทำหน้าที่ตามหน่วยงานที่กล่าวมา ละเลยไม่ปฏิบัติเรื่องนี้อย่างแน่นอน และถ้ามีรัฐมนตรีอย่างลักษณะนั้นจริง ๆ เชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ต้องมีข้าราชการที่จงรักภักดีลุกขึ้นมาและชี้แจงตั้งแต่วันที่มีรัฐมนตรีสั่งการแล้ว เพราะฉะนั้นจึงขอให้ฝ่ายค้านช่วยคำนึงว่าการกล่าวหาผู้อื่นต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวตามข้อเท็จจริงด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นสามารถไปบังคับไปสั่งการให้ข้าราชการที่จงรักภักดีไม่ทำงานได้จริงหรือ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และผมก็เป็นทหาร มีเพื่อนในกองทัพมากมาย คงไม่มีใครยอม” 

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นศูนย์ที่จัดตั้งอย่างถาวรโดยใช้งบประมาณของกระทรวงไอซีทีที่ได้รับจัดสรรมาจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามสำหรับในอนาคตทาง รมว.ไอซีที ยืนยันว่า กำลังหาวิธีการให้กระบวนการเหล่านี้รวดเร็วขึ้นแม้ว่าในปัจจุบันใช้เวลา 1-2 วัน หลายฝ่ายมองว่ารวดเร็วแล้ว ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงไอซีทีมีกรอบนโยบายในการปรับปรุงการทำงานอยู่  3 เรื่อง คือ 1. ปรับปรุงอุปกรณ์ให้ทันสมัยเท่าทันเทคโนโลยี 2. ผลิตบุคลากรและติดอาวุธทางปัญญาให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้สังคมออนไลน์ให้รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ทางอ้อม และ 3. หากระบวนการวิธีการในการประสานงานกับผู้ให้บริการทุกบริษัท ว่าจะมีวิธีการที่ดีกว่า
ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ในการระงับยับยั้งข้อมูลให้เร็วมากกว่าเดิม

สุดท้าย รมว.ไอซีทีฝากถึงคนไทยทุกคนว่า เมื่อไรก็ตามที่พบข้อมูลไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือข้อมูลที่ผิดกฎหมายอื่นๆ ก็ขอให้แจ้งมาที่หน่วยงานของไอซีทีได้ตามฮอตไลน์ โทร. 1212 หรือก๊อบปี้ยูอาร์แอล แล้วส่งมาที่อีเมล 1212@mict.mail.go.th ก็จะถูกดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งก็จะเป็นการช่วยระงับยับยั้งได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น.

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


chonlada

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ