เกมส์ที่มีเนื้อหารุนแรง

หมอกรมสุขภาพจิตเผย เด็กเล่นเกมเนื้อหารุนแรงแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อพ่อ-แม่ ทุบตี,กระชากแขนเมื่อโดนห้ามเล่นก็มี ชี้มั่วมากทำให้ขาดทักษะทางสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวสนใจคนรอบข้าง

นายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ส.ว.กทม. ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) กิจการเยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ถึงรายงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า เด็กที่เล่นเกมที่มีภาพและการต่อสู้เนื้อหาที่รุนแรงว่าจะส่งผลให้เด็กมีนิสัยก้าวร้าวรุนแรงติดตัวเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ว่า เรื่องการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงนั้น ในส่วนของคณะกรรมาธิการกิจการเยาวชนฯ และนักวิชาการของประเทศไทยเองได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและรู้กันดีว่าเด็กจะเรียนรู้ความรุนแรงจากเกมที่มีเนื้อหารุนแรง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงต้องรอให้มีผลงานวิจัยของต่างประเทศออกมาเสียก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะให้ความสนใจที่จะแก้ปัญหา

ความจริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) มีหน้าที่ในการควบคุมซอฟต์แวร์ของเกมที่มีเนื้อหารุนแรง แต่ที่กระทรวงไอซีทีทำอยู่ตอนนี้คือควบคุมในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ป้องกันเว็บไซต์เกี่ยวกับเซ็กซ์ ภาพโป๊ เปลือย แต่ในส่วนของการควบคุมซอฟต์แวร์เกมที่รุนแรงนั้นยังไม่มีความคืบหน้าในการเข้าไปดูแล แนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กที่เล่นเกมรุนแรงที่ทำได้ในตอนนี้คือ การปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเรื่องกรอบเวลาการเล่นเกมของเด็กคือ ข้อ 1.ช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.00 น. ไปจนถึงเวลา 14.00 น. ห้ามเด็กเล่นเกม และ ข้อ 2.ช่วงเวลา 14.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. ให้เด็กเล่นเกมได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้มงวดในการตรวจจับร้านเกมที่ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. สารวัตรนักเรียนต้องเข้มงวดในการตรวจจับนักเรียนที่หนีเรียนไปเล่นเกมและเล่นเกมเกินเวลา ซึ่งในมิติของการปฏิบัติเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เคร่งครัด ส่วนตัวของพ่อแม่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการพัฒนาของเทคโนโลยี ต้องเรียนรู้ว่าจะเลือกสิ่งที่ดีมีประโยชน์ให้กับลูกได้อย่างไร และในเดือนกันยายนนี้ทางคณะกรรมาธิการกิจการเยาวชนฯจะแจกหนังสือคู่มือพ่อแม่ ผู้ปกครองในการแนะนำเว็บลามกให้ห่างจากลูก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเด็กที่เล่นเกมรุนแรงได้อีกทางหนึ่ง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาเด็กที่เล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงนั้นยอมรับว่าการรับรู้ด้านวุฒิภาวะของเด็กไทยและเด็กชาวต่างประเทศจะไม่ต่างกัน คือจะรับรู้และซึมซับเอาความรุนแรงของเกมมาติดเป็นนิสัยได้เหมือนกัน อย่างกรณีที่เจอของเด็กไทยที่พ่อแม่นำลูกมาปรึกษานั้นจะมีตั้งแต่เด็กในวัยประถมศึกษาจนไปจนถึงมัธยมศึกษา เด็กที่อยู่ในกลุ่มของเด็กประถมศึกษาพ่อแม่ยังพอควบคุมได้เนื่องจากยังเล็ก แต่ในส่วนของเด็กกลุ่มมัธยมที่อยู่ในวัยรุ่นพ่อแม่จะควบคุมยาก เนื่องจากพวกเขาจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ปัญหาที่พบคือหลังจากเด็กเล่นเกมแล้ว จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป คือเด็กจะขาดทักษะทางสังคมไม่ยุ่งเกี่ยวและสนใจคนรอบข้าง จะมุ่งแต่เอาชนะในเกม ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ บางรายมีการกระทำความรุนแรงต่อพ่อแม่กระชากแขน ทุบตี เมื่อพ่อแม่ขัดใจห้ามไม่ให้เล่นเกม

พญ.อัมพรกล่าวว่า แนวทางแก้ไขนั้นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับเด็กในการเล่นเกม โดยเลือกเกมที่มีเนื้อหาไม่รุนแรง อย่างเกมเกี่ยวกับตัวเลข ภาษา หรือในลักษณะคิดวิเคราะห์ ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับเด็กด้วยว่าต้องมีกติกาการเล่นเกมให้เล่นเป็นเวลา และปฏิบัติตามกติกาอย่างเคร่งครัด ไม่นำเกมเข้าไปไว้ในห้องนอนของลูกให้ลูกเล่นโดยลำพัง และต้องมีกิจกรรมอื่นให้ลูกทำไม่ใช่ปล่อยให้ลูกรวมกลุ่มกันเล่นเกมกับเพื่อน รวมทั้งต้องทำความรู้จักกับพ่อแม่ของเพื่อนลูกด้วยเพื่อให้ช่วยกันสอดส่องดูแลและร่วมมือกันแก้ปัญหาการเล่นเกมของลูกด้วยกัน

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

ติชม


ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

สร้างโดย :


thongpitt

สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
คอมพิวเตอร์ธุรกิจ